ประวัติ ของ พระยาชัยสุนทร (โสมพะมิตร)

ราชตระกูล

พระยาชัยสุนทรเสกสมรสกับพระนางหล้าสร้อยเทวีชาวนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นพระโอรสในเจ้าองค์ไชย เป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (พระไชยองค์เว้ ครองราชย์ราว พ.ศ. 2250-2273) กษัตริย์ราชอาณาจักรล้านช้างองค์ที่ 36 และปฐมกษัตริย์ราชอาณาจักรเวียงจันทน์สมัย 3 อาณาจักร ฝ่ายพระมารดาเป็นพระนัดดาเจ้าผ้าขาว (เจ้าปะขาว) ผู้สร้างเมืองผ้าขาวและเมืองพันนา (เมืองพนาง) ในสกลนคร สมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 เป็นพระราชนัดดา (หลานอา) ในพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชมหาราชและเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ในพระเจ้าต่อนคำ ฝ่ายเจ้าผ้าขาวเป็นพระราชนัดดากษัตริย์ล้านช้างเวียงจันทน์เช่นกัน ดังนั้นตระกูลพระยาชัยสุนทรจึงเป็นเจ้านายลาวจากราชวงศ์เวียงจันทน์สายหนึ่ง ส่วนเครือญาติบุตรหลานได้ปกครองหัวเมืองลาวจนปฏิรูปการปกครองหลายเมือง เช่น เมืองผ้าขาว (ปัจจุบันคือบ้านผ้าขาวหรือบ้านปะขาว) เมืองพันนา (ปัจจุบันคือบ้านพรรณา) เมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาสัย (เมืองกมลาไสย) เมืองสหัสขันธ์ เมืองสกลทวาปี (บ้านธาตุเชียงชุม) เมืองกลางหมื่น (บ้านกลางหมื่น) เป็นต้น[7]

อพยพไพร่พล

พระยาชัยสุนทรหรือท้าวโสมพะมิตประสูติราว พ.ศ. 2275 รับราชการในราชสำนักเวียงจันทน์จนได้รับความชอบ กษัตริย์เวียงจันทน์โปรดเกล้าฯ เลื่อนยศเป็นที่พญาโสมพะมิต ต่อมา พ.ศ. 2320 พญาโสมพะมิตรและญาติพี่น้องคืออุปฮาดเมืองแสนฆ้องโปงและเมืองแสนหน้าง้ำขัดแย้งกับสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 แห่งเวียงจันทน์ (พระเจ้าสิริบุนสาน ครองราชย์ราว พ.ศ. 2294-2322) จึงรวบรวมผู้คนเป็นสมัครพรรคพวกประมาณหนึ่งหมึ่นข้ามน้ำโขงผ่านทางหนองบัวลำภูตั้งเป็นชุมชนใหญ่ที่บ้านผ้าขาวและบ้านพันนา (เมืองผ้าขาวพันนา) เมืองเก่าในแขวงมณฑลอุดร[8] บริเวณพระธาตุเชิงชุม ฝ่ายพระเจ้าสิริบุนสานส่งทัพหลวงติดตามมากวาดต้อนผู้คนที่อพยพหลบหนีให้กลับคืนเวียงจันทน์[9] พญาโสมพะมิตรจึงอพยพไพร่พลผ่านกุดสิมคุ้มเก่า เมืองบัวขาว ถอยลงใต้ไปทางบ้านเชียงเครือท่าเดื่อ[10] จนเหลือไพร่พลราว 5,000 เส้นทางการตั้งบ้านเรือนเพื่อหนีความวุ่นวายทางการเมืองจากนครเวียงจันทร์ผ่านทางหนองบัวลำภูแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ

  1. กลุ่มพระยาชัยสุนทร พระยาอุปชา เมืองแสนฆ้องโปง และเมืองแสนหน้า ตั้งเมืองกาฬสินธุ
  2. กลุ่มเจ้าพระวอ เจ้าพระตา แยกตั้งบ้านเรือนที่ดอนมดแดง เวียงฆ้อนกลอง ดงอู่ผึ้ง บ้านแจละแม ตั้งเป็นเมืองอุบลราชธานี
  3. กลุ่มพระครูโพนเสม็กอธิการวัดหรือพระอรหันต์ภายสร้อย แยกตั้งบ้านเมือง ณ เมืองจามปามหานครซึ่งเป็นเมืองร้างโดยตั้งเจ้าสร้อยศรีสมุทร์เชื้อพระวงศ์กษัตริย์เวียงจันทน์เป็นกษัตริย์นครจำปาศักดิ์[11]

ขึ้นเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์

เมื่อกองทัพเวียงจันทน์ยกมารบกวนพญาโสมพะมิตจึงยกไพร่พลข้ามสันเขาภูพานลงทิศใต้ สร้างพระพุทธรูปใหญ่ไว้ข้างสิมหนองเทาเก่าตั้งบ้านเรือนหนาแน่นและเป็นใหญ่ปกครองเมืองอยู่บ้านกลางหมื่น (ตำบลกลางหมื่น อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ในปัจจุบัน) เป็นอิสระไม่ขึ้นแก่เมืองใด[12] ด้วยจำนวนไพร่พล 5,000 ต่อมาพระยาอุปชาและเมืองแสนฆ้องโปงถึงแก่กรรมพระเจ้าสิริบุนสานส่งทัพมารบกวน พญาโสมพมิตรจึงขึ้นไปสมทบกับเจ้าพระวอเจ้าพระตาขอไพร่พลร่วมสมทบอีกราว 3,000 คน ราวปีเศษ พ.ศ. 2325 จึงอพยพผู้คนย้อนกลับมาตั้งบ้านเรือนใหม่ที่แก้งส้มโฮง (แก่งสำโรง) ดงสงเปือยริมฝั่งน้ำปาวรวมไพร่พลราว 4,000 คน[13] เหลือไพร่พลที่บ้านกลางหมื่น 1,000 คน พ.ศ. 2336 พญาโสมพะมิตเสด็จไปกรุงเทพมหานครเจริญไมตรีกับกษัตริย์สยาม โดยนำเครื่องเจริญสัมพันธไมตรีมีค่าเป็นกาน้ำสำริดหรือกาทองที่นำติดตัวมาแต่สมัยรับราชการ ณ เวียงจันทน์มอบแด่รัชกาลที่ 1 พร้อมดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง สีผึ้ง น้ำรัก งาช้าง และนอแรด สยามชอบใจจึงยกฐานะบ้านแก้งส้มโฮงขึ้นเป็นเมืองกาฬสินธุ์ตามนามมงคลนิมิตของกาน้ำสำริด[14] สถาปนาพญาโสมพะมิตขึ้นเป็นพระยาไชยสุนทรเจ้าองค์ครองเมืองกาฬสินธุ์องค์แรก[15] ในฐานะประเทศราช (ต่อมาถูกลดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอกแต่ยังไม่มีหัวเมืองขึ้น) แต่นั้นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ยึดถือนามยศพระยาชัยสุนทรไว้สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองนี้โดยเฉพาะ พระยาชัยสุนทรครองเมืองด้วยความสงบเรียบร้อยโดยลำดับ พ.ศ. 2345 ทรงชราภาพจึงมอบหมายราชการให้ท้าวหมาแพงดูแลรักษา[16]

ใกล้เคียง